ในภาษาญี่ปุ่นจะใช้อักษรอยู่ 3 ประเภท คือ
(1) อักษรฮิระงะนะ 『ひらがな』
- เป็นอักษรดั้งเดิมของญี่ปุ่น ใช้เขียนคำที่แสดงความหมายหลัก ๆ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือใช้เขียนคำของภาษาญี่ปุ่นแท้ ๆ
- บางที เราก็จะเห็นว่าอักษรนี้เขียนกำกับเสียงอ่านอยู่บนตัวอักษรคันจิ ซึ่งตรงนี้เราจะเรียกอีกอย่างว่า "ฟุริงะนะ" 『ふりがな』
- ลักษณะของอักษรฮิระงะนะ ใช้วิธีการจำง่าย ๆ ว่ารูปร่างของมันจะอ่อนช้อยราวกับเกอิชาร่ายรำ
(2) อักษรคะตะคะนะ 『カタカナ』
- เป็นอักษรที่ใช้ทับศัพท์ภาษาที่มาจากต่างประเทศ เช่น ชื่อเฉพาะหรือคำศัพท์ต่าง ๆ ชื่อบุคคล, สถานที่หรือพวกชื่อพืชและสัตว์ คำเลียนเสียง หรือใช้กรณีที่ต้องการเน้นคำก็ได้
- ลักษณะของอักษรคะตะคะนะ เมื่อลองเปรียบเทียบกับกับฮิระงะนะแล้ว อักษรคะตะคะนะจะมีลักษณะดูแข็ง ๆ ไม่อ่อนช้อย แต่ก็มีอักษรคะตะคะนะบางตัวที่คล้ายกับอักษรฮิระงะนะ
(3) อักษรคันจิ 『漢字』
- เป็นอักษรที่คนญี่ปุ่นยืมเข้ามาจากจีน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเหมือนคำจากภาษาจีนเลย แต่ก็จะมีบางคำที่ญี่ปุ่นนำมาดัดแปลงเอง
- ใช้แสดงความหมาย เช่น พวกคำนาม คำกริยา ฯลฯ
- อักษรคันจินั้นอักษรแค่ 1 ตัวจะแทนทั้งเสียงและความหมาย
- คนญี่ปุ่นมักจะนำอักษรคันจิมาใช้คู่กับฮิระงะนะหรือคะตะคะนะ หรือบางทีก็ใช้ตัวเดียวโดด ๆ
- เสียงอ่านของอักษรคันจิจะมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบ "คุงโยมิ" 『訓読み』 และ "องโยมิ" 『音読み』
- เสียงแบบ "คุง" จะเป็นเสียงอ่านแบบญี่ปุ่น ซึ่งมักอ่านแบบนี้เมื่อเจอคันจิผสมมากับฮิระงะนะ ส่วนเสียงแบบ "อง" จะเป็นเสียงอ่านแบบจีน จะอ่านแบบนี้เมื่อเจอคันจิตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป แต่ก็ไม่มีกฏตายตัว
- ในประเทศญี่ปุ่นมีการบัญญัติให้อักษรคันจิ 1,945 ตัวเป็น "โจโยคันจิ (คันจิที่ใช้บ่อย)" 『常用漢字』 เพื่อจำกัดจำนวนคันจิในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีคันจิยาก ๆ มากเกินไป (แต่ก็มีคันจิยาก ๆ ใช้บ้างประปราย)